พระราชบัญญัติ

สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล

พ.ศ. 2537

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537

เป็นปีที่ 49 ในรัชกาลปัจจุบัน


                    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

                    โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารของตำบล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

                    มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537"

                    มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป  *[รก.2537/53ก/11/2 ธันวาคม 2537]

                    มาตรา 3  ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคมพ.ศ. 2515
                    บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

                    มาตรา 4  ในพระราชบัญญัตินี้
                    "หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น" หมายความว่า เทศบาล สุขาภิบาล และราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น แต่ไม่รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด
                    "นายอำเภอ" หมายความรวมถึงปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอด้วย
                    "ตำบล" หมายความว่า ตำบลตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ที่อยู่นอกเขตหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และในกรณีที่ตำบลใดมีพื้นที่อยู่ทั้งในและนอกเขตหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ให้หมายความถึงเฉพาะพื้นที่ที่อยู่นอกเขตหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

                                 "คณะกรรมการบริหาร" หมายความว่า คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล
                    "กรรมการบริหาร" หมายความว่า กรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล

                    มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
                    กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่มีผลเป็นการทั่วไป เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 หมวด 1

 สภาตำบล


                    มาตรา 6  ในตำบลหนึ่งให้มีสภาตำบลสภาหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้สภาตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคล

ส่วนที่ 1

สมาชิกสภาตำบล


                    มาตรา 7  สภาตำบลประกอบด้วยสมาชิกโดยตำแหน่งได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านของทุกหมู่บ้านในตำบล และแพทย์ประจำตำบล และสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตำบลนั้นเป็นสมาชิกสภาตำบลหมู่บ้านละหนึ่งคน

                    มาตรา 8  ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตาม (1) และ (2) และไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (3) และ (4) ดังต่อไปนี้
                   *(1) มีสัญชาติไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง
                    (2) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำและมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในหมู่บ้านในตำบลนั้นเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามเดือนจนถึงวันเลือกตั้ง
                    (3) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
                    (4) เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
                    *[มาตรา 8 (1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2538]

                    มาตรา 9  ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตาม (1) และ (2) และไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (3) ถึง (11) ดังต่อไปนี้
                   *(1) มีสัญชาติไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าว ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย
                    (2) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำและมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในหมู่บ้านในตำบลนั้นเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือน จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
                    (3) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
                    (4) เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพ วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศกำหนดไว้สำหรับคุณสมบัติของผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
                    (5) เป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานองค์การของรัฐ
                    (6) เป็นผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือสารวัตรกำนัน
                    (7) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
                    (8) เคยถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบลตามพระราชบัญญัตินี้
                    (9) เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกโดยพ้นโทษมาแล้วไม่ถึงสามปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
                    (10) เป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริตหรือเสื่อมเสียทางศีลธรรม
                    (11) เคยถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งหรือสภาตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้ง เว้นแต่จะพ้นห้าปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
                    *[มาตรา 9 (1) แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2538]

                    มาตรา 10  ให้นายอำเภอจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในระเบียบของกระทรวงมหาดไทย

                    มาตรา 11  สมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
                    ในกรณีที่สมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วแต่ยังมิได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งขึ้นใหม่ ให้สมาชิกสภาตำบลโดยตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป

                    มาตรา 12  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ สมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
                    (1) ตาย
                    (2) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันลาออก
                    (3) มีการยุบสภาตำบล
                   *(4) เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับสภาตำบลที่ตนดำรงตำแหน่งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่สภาตำบลนั้น
                    (5) สภาตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียประโยชน์ของตำบล มติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
                    (6) นายอำเภอสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อได้สอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 9 หรือมิได้อยู่ประจำในหมู่บ้านที่ได้รับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันเกินหกเดือน หรือขาดการประชุมสภาตำบลติดต่อกันสามครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
                    (7) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อได้สอบสวนแล้วปรากฏว่าบกพร่องในทางความประพฤติ
                    *[อนุ (4) ของมาตรา 12 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2542 และวรรคสองของมาตรา 12 ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

                    มาตรา 13  เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงเพราะครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือมีการยุบสภาตำบล ให้มีการเลือกตั้งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ครบวาระหรือวันที่ยุบสภาตำบล แล้วแต่กรณี

                    มาตรา 14  เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากครบวาระหรือมีการยุบสภาตำบล ให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งที่เหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จะไม่ดำเนินการเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้
                    ให้สมาชิกสภาตำบลผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

                    มาตรา 15  เมื่อมีการยุบและรวมเขตหมู่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ให้สมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้ง ของหมู่บ้านเดิมที่ถูกยุบหรือถูกรวมยังคงเป็นสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งอยู่ต่อไปจนกว่าสมาชิกภาพจะสิ้นสุดลงตามมาตรา 12
                    เมื่อมีการแยกพื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านใดขึ้นเป็นหมู่บ้านใหม่ ให้สมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งของหมู่บ้านเดิมยังคงเป็นสมาชิกสภาตำบล ซึ่งได้รับเลือกตั้งอยู่ต่อไปจนกว่าสมาชิกภาพจะสิ้นสุดลงตามมาตรา 12 และให้นายอำเภอจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบล ซึ่งได้รับเลือกตั้งสำหรับหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อเป็นสมาชิกสภาตำบลที่หมู่บ้านนั้นอยู่ในเขตภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศตั้งหมู่บ้านใหม่ และให้ผู้ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสมาชิกอื่นในตำบลนั้น เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งที่เหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จะไม่ดำเนินการเลือกตั้งก็ได้

                    มาตรา 16  สภาตำบลมีกำนันเป็นประธานสภาตำบล และมีรองประธานสภาตำบลคนหนึ่งซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งจากสมาชิกสภาตำบลตามมติของสภาตำบล
                    รองประธานสภาตำบลมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี
                    รองประธานสภาตำบลพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งตามวรรคสอง เมื่อ
                    (1) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันลาออก
                    (2) พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาตำบลตามมาตรา 12

                    มาตรา 17  ประธานสภาตำบลเป็นผู้เรียกประชุมสภาตำบล และมีหน้าที่ดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
                    รองประธานสภาตำบลมีหน้าที่กระทำกิจการแทนประธานสภาตำบลเมื่อประธานสภาตำบลไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือตามที่ประธานสภาตำบลมอบหมาย
                    เมื่อประธานสภาตำบลและรองประธานสภาตำบลไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกสภาตำบลที่มาประชุมเลือกกันเองเป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

                    มาตรา 18  ให้มีการประชุมสภาตำบลไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง การประชุมต้องมีสมาชิกสภาตำบลมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาตำบลทั้งหมด เท่าที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม
                    การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้
                    สมาชิกสภาตำบลคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

                    มาตรา 19  สภาตำบลมีเลขานุการสภาตำบลคนหนึ่งซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการที่ปฏิบัติงานในตำบลนั้นหรือจากบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8
                    ให้นายอำเภอเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขานุการสภาตำบลตามมติของสภาตำบล

                    มาตรา 20  เลขานุการสภาตำบลมีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการและการจัดการประชุมและงานอื่นใดตามที่สภาตำบลมอบหมาย

                    มาตรา 21  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้สมาชิกสภาตำบลและเลขานุการสภาตำบลเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา


ส่วนที่ 2

อำนาจหน้าที่ของสภาตำบล


                    มาตรา 22  สภาตำบลมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลตามแผนงานโครงการและงบประมาณของสภาตำบล เสนอแนะส่วนราชการในการบริหารราชการและพัฒนาตำบลปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตำบลตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด

                    มาตรา 23  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย สภาตำบลอาจดำเนินกิจการภายในตำบลดังต่อไปนี้
                    (1) จัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
                    (2) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก
                    (3) จัดให้มีและรักษาทางระบายน้ำ และรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
                    (4) คุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                    (5) บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร
                    (6) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

                    มาตรา 24* กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในสัญญากับสภาตำบลที่ตนดำรงตำแหน่งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่สภาตำบลนั้น
                    ในกรณีที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบลกระทำการฝ่าฝืนตามที่บัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้บุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล แล้วแต่กรณี โดยให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากตำแหน่งเพราะบกพร่องในทางความประพฤติหรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
                    *[วรรคหนึ่งของมาตรา 12 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2542]

                    มาตรา 25  ในการปฏิบัติหน้าที่ของกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการใดที่กำหนดไว้แล้วในแผนพัฒนาตำบล ให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาตำบล

                    มาตรา 26  ในการจัดทำโครงการหรือแผนงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานใดในพื้นที่ตำบลใด ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้นคำนึงถึงแผนพัฒนาตำบลนั้นด้วย

                    มาตรา 27  ในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบล ให้ประธานสภาตำบลเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการตามมติของสภาตำบล แต่สภาตำบลอาจมอบหมายให้สมาชิกสภาตำบลผู้อื่นดำเนินกิจการแทนเฉพาะกรณีได้
                    ในการทำนิติกรรมของสภาตำบล ให้ประธานสภาตำบล เลขานุการสภาตำบลและสมาชิกสภาตำบลอีกหนึ่งคนร่วมกันมีอำนาจกระทำการแทนสภาตำบล ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย

                    มาตรา 28  เมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด สภาตำบลอาจทำกิจการนอกเขตสภาตำบล หรือร่วมกับสภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่นเพื่อทำกิจการร่วมกันได้เมื่อได้รับความยินยอมจากสภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และกิจการนั้นเป็นกิจการที่จำเป็นต้องทำและเป็นการเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน


ส่วนที่ 3

รายได้และรายจ่ายของสภาตำบล

 

                    มาตรา 29  สภาตำบลมีรายได้ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดสรรให้ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ดังต่อไปนี้
                    (1) ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย อากรการฆ่าสัตว์และผลประโยชน์อื่นอันเกิดจากการฆ่าสัตว์ที่จัดเก็บได้ในตำบลนั้น
                    (2) ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับ ตามที่จะมีกฎหมายกำหนดไว้ที่จัดเก็บได้ในตำบลนั้น
                    (3) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนันที่เก็บเพิ่มขึ้นตามข้อบัญญัติจังหวัดในเขตตำบลนั้น
                    (4) ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับจัดสรร
                    (5) ภาษีสุรา และภาษีสรรพสามิต ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับจัดสรร
                    (6) ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับจัดสรร

                    มาตรา 30  ทุกปีงบประมาณให้รัฐบาลจัดสรรเงินให้แก่สภาตำบลเป็นเงินอุดหนุน

                    มาตรา 31  สภาตำบลอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
                    (1) รายได้จากทรัพย์สินของสภาตำบล
                    (2) รายได้จากสาธารณูปโภคของสภาตำบล
                    (3) เงินและทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้
                    (4) เงินอุดหนุนและรายได้อื่นตามที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐจัดสรรให้
                    (5) รายได้อื่นตามที่จะมีกฎหมายกำหนดให้เป็นของสภาตำบล

                    มาตรา 32  รายได้ของสภาตำบล ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร และไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

                    มาตรา 33  สภาตำบลอาจมีรายจ่าย ดังต่อไปนี้
                    (1) เงินเดือน
                    (2) ค่าจ้าง
                    (3) เงินค่าตอบแทนอื่น ๆ
                    (4) ค่าใช้สอย
                    (5) ค่าวัสดุ
                    (6) ค่าครุภัณฑ์
                    (7) ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และทรัพย์สินอื่น ๆ
                    (8) ค่าสาธารณูปโภค
                    (9) เงินอุดหนุนหน่วยงานอื่น
                    (10) รายจ่ายอื่นใดตามข้อผูกพัน หรือตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้

                    มาตรา 34  เงินค่าตอบแทนประธานสภาตำบล รองประธานสภาตำบล สมาชิกสภาตำบลและเลขานุการสภาตำบล ให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย

                    มาตรา 35  งบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของสภาตำบลให้จัดทำเป็นข้อบังคับตามระเบียบและวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
                    ถ้าในระหว่างปีงบประมาณใด รายจ่ายซึ่งกำหนดไว้ในงบประมาณไม่พอใช้จ่ายประจำปีนั้น หรือมีความจำเป็นต้องตั้งรายจ่ายขึ้นใหม่ระหว่างปีงบประมาณ ให้จัดทำข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
                    เมื่อสภาตำบลจัดทำร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเสร็จแล้ว ให้เสนอนายอำเภอเพื่ออนุมัติ
                    ถ้าข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกไม่ทันปีใหม่ ให้ใช้ข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีก่อนนั้นไปพลางก่อน

                    มาตรา 36  ให้กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบว่าด้วยการคลัง การงบประมาณการรักษาทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจัดหาพัสดุและการจ้างเหมา
                    กระทรวงมหาดไทยจะออกระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานอื่น ๆ ของสภาตำบลให้สภาตำบลต้องปฏิบัติด้วยก็ได้
                    ในการออกระเบียบตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คำนึงถึงลักษณะของพื้นที่จำนวนประชากร รายได้ ความคล่องตัว และความมีประสิทธิภาพในการบริหารงานของสภาตำบลด้วย

                    มาตรา 37  ให้กระทรวงมหาดไทยจัดให้มีการตรวจสอบการคลัง การบัญชี หรือการเงินอื่น ๆ ของสภาตำบล


ส่วนที่ 4

การกำกับดูแลสภาตำบล

                    มาตรา 38  นายอำเภอมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ
                    ในกรณีที่ปรากฏว่าการดำเนินการของสภาตำบลเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการ นายอำเภอมีอำนาจยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวได้และรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อวินิจฉัย
                    ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการดำเนินการของสภาตำบลไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งการให้สภาตำบลระงับการดำเนินการดังกล่าว

                    ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการดำเนินการของสภาตำบลเป็นไปโดยชอบแล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งเพิกถอนการยับยั้งของนายอำเภอ แต่ถ้านายอำเภอไม่รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ยับยั้ง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดไม่วินิจฉัยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ให้การยับยั้งของนายอำเภอและอำนาจสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว

                    มาตรา 39  หากปรากฏว่าสภาตำบลกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจสั่งยุบสภาตำบลได้ตามคำเสนอแนะของนายอำเภอ และเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งยุบสภาตำบลแล้วให้สภาตำบลยังคงประกอบด้วยสมาชิกสภาตำบล โดยตำแหน่งทั้งหมดจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งใหม่
                    ในกรณีที่การยุบสภาตำบลตามวรรคหนึ่งเป็นผลจากการกระทำของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล ซึ่งเป็นสมาชิกสภาตำบลโดยตำแหน่ง หรือบุคคลดังกล่าวได้ร่วมกระทำการด้วย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้บุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล แล้วแต่กรณี โดยให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากตำแหน่งเพราะบกพร่องในทางความประพฤติหรือความสามารถ ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และถ้าสมาชิกสภาตำบลโดยตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาตำบล โดยตำแหน่งทั้งหมด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งบุคคลตามจำนวนที่เห็นสมควรเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่กับสมาชิกสภาตำบลโดยตำแหน่งที่เหลืออยู่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบลและสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งใหม่


หมวด 2

องค์การบริหารส่วนตำบล


                    มาตรา 40  สภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกันสามปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทหรือตามเกณฑ์รายได้เฉลี่ย ในวรรคสองอาจจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลได้ โดยทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทยและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในประกาศนั้นให้ระบุชื่อและเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลไว้ด้วย
                    การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์รายได้เฉลี่ยของสภาตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทยและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                    มาตรา 41  สภาตำบลที่ได้จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา 40ให้พ้นจากสภาพแห่งสภาตำบลนับแต่วันที่ได้ประกาศจัดตั้งขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นต้นไป
                    บรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิ สิทธิเรียกร้อง หนี้ และเจ้าหน้าที่ของสภาตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้โอนไปเป็นขององค์การบริหารส่วนตำบล

                    มาตรา 41 ทวิ* สภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลอาจรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้น โดยให้นำมาตรา 40 และมาตรา 41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
                    *[มาตรา 41 ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

                    มาตรา 41 ตรี* สภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลอาจรวมกับหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้น โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและให้กำหนดเขตใหม่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นไว้ในพระราชกฤษฎีกาด้วย
                    ให้นำมาตรา 41 และมาตรา 42 วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับกับการรวมตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
                    *[มาตรา 41 ตรี เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

                    มาตรา 41 จัตวา* องค์การบริหารส่วนตำบลใดมีจำนวนประชากรทั้งหมดไม่ถึงสองพันคน ทั้งเป็นเหตุทำให้ไม่สามารถที่จะดำเนินการบริหารงานพื้นที่นั้น ให้มีประสิทธิภาพในลักษณะขององค์การบริหารส่วนตำบลได้ ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศยุบองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าว โดยให้รวมพื้นที่เข้ากับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่น ที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกัน หรือให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าว โดยให้รวมพื้นที่เข้ากับหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้น ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว
                    ให้นำมาตรา 41 และมาตรา 42 วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับกับการยุบและรวมองค์การบริหารส่วนตำบล หรือการยุบและรวมองค์การบริหารส่วนตำบลกับหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
                    *[มาตรา 41 จัตวา เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

                    มาตรา 42  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการเทศบาล อาจจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นเป็นเทศบาลได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
                    องค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้จัดตั้งเป็นเทศบาลตามวรรคหนึ่ง ให้พ้นจากสภาพแห่งองค์การบริหารส่วนตำบลนับแต่วันที่ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาลเป็นต้นไป
                    บรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิ สิทธิเรียกร้อง หนี้ พนักงานส่วนตำบล และลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้โอนไปเป็นของเทศบาลที่จัดตั้งขึ้นนั้น
                    บรรดาข้อบังคับตำบลที่ได้ใช้บังคับในเรื่องใดอยู่ก่อนแล้ว ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้มีการตราเทศบัญญัติในเรื่องนั้นขึ้นใหม่

                    มาตรา 43  องค์การบริหารส่วนตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น

                    มาตรา 44  องค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล


ส่วนที่ 1

สภาองค์การบริหารส่วนตำบล


                    มาตรา 45* สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวนหมู่บ้านละสองคน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น
                    ในการที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียงหนึ่งหมู่บ้านให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหกคน และในกรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียงสองหมู่บ้านให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหมู่บ้านละสามคน
                    หลักเกณฑ์และวิธีการสมัครรับเลือกตั้งและการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
                    อายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
                    *[มาตรา 45  แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

                    มาตรา 46  สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
                    (1) ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาตำบลเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบล
                    (2) พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับตำบล ร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปี และร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
                    (3) ควบคุมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารให้เป็นไปตามนโยบายและแผนพัฒนาตำบลตาม (1) และกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ

                    มาตรา 47* ให้นำบทบัญญัติมาตรา 8 มาตรา 13 มาตรา 14 และมาตรา 15มาใช้บังคับกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลด้วยโดยอนุโลม
                    *[มาตรา 47 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

                    มาตรา 47 ทวิ* ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ต้อง
                    (1) มีคุณสมบัติตามมาตรา 9 (1) และ (2)
                    (2) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9 (3) (4) (5) (6) (7) (9) หรือ (10)
                    (3) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนสมัครรับเลือกตั้งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้น
                    (4) ไม่เคยถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล เว้นแต่จะพ้นห้าปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
                    (5) ไม่เคยถูกสภาตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาตำบล หรือไม่เคยถูกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเว้นแต่จะพ้นห้าปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
                    *[มาตรา 47 ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

                    มาตรา 47 ตรี* สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงเมื่อ
                    (1) ถึงคราวออกตามอายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือมีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
                    (2) ตาย
                    (3) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันลาออก
                    (4) เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนดำรงตำแหน่งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้น
                    (5) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 47 ทวิ
                    (6) มิได้อยู่ประจำในหมู่บ้านที่ได้รับเลือกตั้งเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินหกเดือน
                    (7) ขาดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลติดต่อกันสามครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
                    (8) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งเพราะมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย หรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโดยมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณา และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
                    (9) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้ลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงให้สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง
                    เมื่อมีกรณีสงสัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (4) (5) (6) หรือ (7) ให้นายอำเภอสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว คำวินิจฉัยของนายอำเภอให้เป็นที่สุด
                    ในกรณีที่สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (8) ผู้นั้นอาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายประกอบด้วย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว ในกรณีดังกล่าวยังไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 14 ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 47จนกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้มีคำวินิจฉัยแล้ว
                    ในกรณีที่สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงตาม (9)พร้อมกัน ให้ถือว่าเป็นการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
                    *[มาตรา 47 ตรี เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

                    มาตรา 48  สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีประธานสภาและรองประธานสภาคนหนึ่งซึ่งเลือกจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ให้นายอำเภอแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

                    มาตรา 49  ประธานและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันที่ได้รับเลือกเป็นประธานหรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

                    มาตรา 50  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
                    (1) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันลาออก
                    (2) พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา 12 ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 47
                    (3) ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร

                    มาตรา 51  เมื่อตำแหน่งประธานหรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากครบวาระ ให้มีการเลือกประธานหรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง และให้ผู้ซึ่งได้รับเลือกแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

                    มาตรา 52  ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
                    รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่กระทำกิจการแทนประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือตามที่ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมอบหมาย
                    เมื่อประธานและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่มาประชุมเลือกกันเองเป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

                    มาตรา 53  ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญสองสมัย หรือหลายสมัยแล้วแต่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลจะกำหนด แต่ต้องไม่เกินสี่สมัย วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลกำหนด
                    การประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลครั้งแรก ต้องกำหนดให้สมาชิกได้มาประชุมภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
                    สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดไม่เกินสิบห้าวัน แต่ถ้าจะขยายเวลาออกไปอีก จะต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอ

                    มาตรา 54  ให้ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้เรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามสมัยประชุม และเป็นผู้เปิดหรือปิดประชุม
                    ในกรณีที่ยังไม่มีประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่เรียกประชุมตามกฎหมาย ให้นายอำเภอเป็นผู้เรียกประชุม และเป็นผู้เปิดหรือปิดประชุม

                    มาตรา 55  นอกจากสมัยประชุมสามัญแล้ว เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ขององค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานกรรมการบริหาร หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีจำนวนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ อาจทำคำร้องยื่นต่อนายอำเภอขอให้เปิดประชุมวิสามัญ ให้นายอำเภอพิจารณา ถ้าเห็นสมควรก็ให้นายอำเภอเรียกประชุมวิสามัญได้
                    สมัยประชุมวิสามัญให้กำหนดไม่เกินสิบห้าวัน แต่ถ้าจะขยายเวลาออกไปอีกจะต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอ

                    มาตรา 56  การประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลต้องมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม
                    ให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 18 วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับกับการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลด้วยโดยอนุโลม

                    มาตรา 57  ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคนหนึ่งเป็นเลขานุการองค์การบริหารส่วนตำบล
                    สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งได้รับเลือกเป็นเลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่งจะดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารในขณะเดียวกันอีกมิได้
                    เลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการและการจัดการประชุมและงานอื่นใดตามที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมอบหมาย

ส่วนที่ 2

คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล


                    มาตรา 58* คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยประธานกรรมการบริหารคนหนึ่งและกรรมการบริหารจำนวนสองคน ซึ่งสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเลือกจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแล้วเสนอให้นายอำเภอแต่งตั้ง
                    ให้ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหาร
                    การประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย
                    *[มาตรา 58 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]